Blue Flower

 

ชีวประวัติหลวงปู่แบน  ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์  ตำบลตองโขบ  อำเภอโคกศรีสุพรรณ  จังหวัดสกลนคร

 *********

               พระเดชพระคุณ  พระภาวนาวิสุทธิญาณ  หรือหลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์  ตำบลตองโขบ  อำเภอโคกศรีสุพรรณ  จังหวัดสกลนคร  พระอริยเจ้าผู้เป็นเสาหลักพระป่ากรรมฐานผู้ยิ่งใหญ่  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  นามเดิมท่านชื่อ  สุวรรณ  นามสกุล  กองจินดา ชื่อเล่นว่า  แบน  เกิดเมื่อวันที่  ๒  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๑  ตรงกับวันเสาร์ขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๘  ปีมะโรง  ณ  บ้านหนองบัว  ตำบลหนองบัว  อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี  โยมบิดาท่านชื่อ  คุณพ่อเล็ก  กองจินดา  โยมมารดาท่านชื่อ  คุณแม่หลิม  กองจินดา 

 

การศึกษา

               ครั้นถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนแล้ว  บิดามารดาได้ส่งท่านเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน  จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่  ๔    ซึ่งเป็นการศึกษาสูงสุดในสมัยนั้น  ครั้นจบการศึกษาแล้ว  ท่านได้ช่วยบิดามารดาทำสวนทำไร่  เพราะในเขตจังหวัดจันทบุรีนั้น  อาชีหลักคือทำสวนเงาะ  สวนทุเรียน

 

การอุปสมบท

               อายุ  ๒๑  ปี  หลวงปู่แบน  ธนากโร  เข้าไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์  ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ  กับหลวงปู่กงมา  จิรปุญฺโญ  ณ  วัดทรายงาม  ตำบลหนองบัว  อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี  ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน  พอทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติ  และท่องคำขานนาคได้แล้ว  หลวงปู่กงมา  จิรปุญฺโญ  จึงนำท่านเข้าไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา    ณ  วัดเกาะตะเคียน  ตำบลหนองบัว  อำเภอเมือง  จังหวัดจันทบุรี  เมื่อวันที่  ๒๔  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๔๙๓ 

โดยมี  พระอมรโมลี  เป็นพระอุปัชฌาย์ 

พระครูพิพัฒน์พิหารการ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

พระเม้า  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  

พระอุปัชฌาย์ ขนานนามฉายาให้ว่า “ธนากโร” แปลว่า “ผู้มีสมบัติแห่งทรัพย์”

 

อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กงมา  จิรปุญฺโญ

ภายหลังจากที่ท่านบวชแล้ว  ท่านอยู่ปฏิบติธรรมกับหลวงปู่กงมา  จิรปุญฺโญ  ที่วัดทรายงาม  จังหวัดจันทบุรี ต่อมา ได้ติดตามหลวงปู่กงมา  จิรปุญฺโญ  ไปอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์  ตำบลตองโขบ  อำเภอโคกศรีสุพรรณ  จังหวัดสกลนคร  จนกระทั่งหลวงปู่กงมา  มรณภาพ  ครั้นทำการถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่กงมา  จิรปุญโญ  แล้ว  หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านก็รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์  ต่อจากหลวงปู่กงมาผู้เป็นบุรพาจารย์  รักษาข้อวัตรปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว  รวมทั้งอบรมพระภิกษุสามเณร  และฆราวาสที่มาอยู่ปฏิบัติธรรม

เป็นพระที่พระมหากษัตริย์ให้ความเคารพและนับถือ

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี  พระบาทสมเด็จ  พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชนนีพันปีหลวง  ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์  จะเสด็จแปรพระราชฐานมาพักแรมอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์  จังหวัดสกลนคร  เพื่อเยี่ยมราษฎรในเขตภาคอีสาน  ทั้งสองพระองค์  และพระบรมวงศานุวงศ์  จะเสด็จขึ้นไปกราบนมัสการหลวงปู่แบน  ธนากโร  ที่วัดดอยธรรมเจดีย์  และเยี่ยมเยียนประชาชนในแถบนั้นเกือบทุกครั้ง

นอกจากนั้น  หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านจะเมตตาสอนประชาชนชาวไทย  ให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง  ปฎิบัติตนตามพระราชดำรัส  ของในหลวงรัชกาลที่ ๙  และสอนให้ประชาชนรักชาติ  รักพระพุทธศาสนา  รักพระมหากษัตริย์  ซึ่งสามสถานบันหลักนี้  เป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทยทุกเชื้อชาติ

เมื่อ  ชาติ   ศาสนา  พระมหากษัตริย์  สามสถานบันหลักนี้มีความมั่นคงถาวร  ประชาชนชาวไทยก็อยู่เย็นเป็นสุข 

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จ  พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต  หลวงปู่แบน  ธนากโร  กล่าวถึงพระองค์ท่านว่า  “ในหลวงท่านทรงเสด็จสวรรคต  ใครยังยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงยังอยู่  ใครไม่ยึดเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงไม่มีในคนๆนั้น..คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง  เอามาพัฒนาประเทศชาติ  ประเทศชาติเจริญ  เอามาพัฒนาสังคมสังคมก็สง่างาม  พัฒนาเจ้าของก็เป็นบุคคลที่ไปที่ไหนก็อบอุ่น  ไม่เป็นอันตราย  ไม่มีภัยแก่ท่านผู้ใดทั้งสิ้น  ได้ยินมั้ย  จำได้หรือเปล่า  เศรษฐกิจพอเพียง  ก็คือหลักศีลธรรมนี่เอง  พระพุทธเจ้าท่านสอนให้สันโดษ  มักน้อย  อ่อนน้ำถ่อมตน  ในหลวงเสด็จสวรรคตเมื่อวานนี้  วันนี้เลยเอาในหลวงมาคุยนิดหน่อย  สรุปแล้วในหลวงยังอยู่  ถ้าใครยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

 

เป็นเสาหลักพระกรรมฐานในประเทศไทย

พอถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เช่น  วันมาฆบูชา  วันวิสาขบูชา  วันอาสาฬหบูชา  วันเข้าพรรษา  วันออกพรรษา เป็นต้น  คณะลูกศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณร  และฆราวาสจะมาจากที่ต่างๆ  ในเขตจังหวัดสกลนคร  นครพนม  มุกดาหาร  อุดรธานี  เลย  บุรีรัมย์  ศรีสะเกษ  สุรินทร์ ฯลฯ  รวมทั้งภาคอื่นๆ ของประเทศไทย  จะมาลงอุโบสถสามัคคีที่วัดดอยธรรมเจดีย์  เพื่อรับฟังธรรมโอวาท  เป็นคติเตือนใจ  รวมทั้งข้อธรรมอื่นๆ  ในด้านการปฏิบัติจิตภาวนาจากหลวงปู่แบน  ธนากโร  และท่านจะให้กำลังใจแก่พุทธศาสนิกชน  ไม่ให้ท้อถอย  ให้ต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย  คือกิเลส  ให้ยึดมั่นในหลักพระธรรมวินัย  รวมทั้งอบรมคณะพระภิกษุสามเณรทั้งหลายให้พากันตั้งอกตั้งใจรักษาข้อวัตรปฏิบัติ  เจริญจิตภาวนา  และรักษาปฏิปทาพระกรรมฐาน  สายหลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต 

ในช่วงเทศกาลต่างๆนั้น  พระภิกษุที่มารวมกันลงอุโบสถสามัคคี มีประมาณ  ๑,๐๐๐ กว่ารูป  ส่วนฆราวาสก็ประมาณ  ๑,๕๐๐  คน   ในวันปวารณาเข้าพรรษานั้น  หลวงปู่แบน  ธนากโร  องค์ท่านจะถวายสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ  หลายอย่าง  อาทิเช่น  น้ำตาล  โกโก้  กาแฟ  ร่ม ฯลฯ เพื่อมอบให้แก่ทางวัดได้ใช้ร่วมกัน     และถวายถุงยังชีพให้แก่พระภิกษุสามเณร    มีสบู่  ยาสีฟัน  ยารักษาโรค  ยากันยุง  น้ำยาซักผ้า  ฯลฯ  เป็นต้น

เรื่องการสงเคราะห์หมู่คณะพระเณร  ตลอดจนฆราวาสญาติโยมนี้  หลวงปู่แบน  ท่านจะทำอยู่ตลอด  ไม่เฉพาะแต่วันสำคัญเท่านั้น  ท่านจะพาลูกศิษย์ไปแจกผ้าห่ม  เสื้อผ้า  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  ยารักษาโรค  เครื่องอุปโภค  บริโภคต่างๆ  ให้แก่ประชาชน  ในเขตภาคอีสาน  เช่น จังหวัดสกลนคร  จังหวัดมุกดาหาร  จังหวัดนครพนม  จังหวัดกาฬสินธุ์  รวมไปถึงภาคเหนือ  และภาคอื่น ๆ  ของประเทศไทยด้วย

ส่วนการสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรนั้น  ท่านจะออกไปตรวจตรา  เยี่ยมเยียนตามวัดต่างๆ  เพื่อให้กำลังใจในการเจริญจิตภาวนา  นำเครื่องอุปโภค  บริโภค มีน้ำตาล  น้ำปลา  มาม่า  ปลากระป๋อง  ฯลฯ  ไปถวายให้วัดนั้นๆ  หากเป็นฤดูกาลผลไม้  เช่น  เงาะ  ทุเรียน  มังคุด  ท่านจะนำไปถวายตามวัดต่างๆ  ด้วย

หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านเมตตาขวนขวายในการสงเคราะห์โลกในทุกๆ ด้าน ทุกๆ ทาง  ดังคำปรารถขององค์ท่านว่า "เราไม่ได้คิดว่าจะมาเอาบุญเอากุศลอะไรดอก ที่ทำอยู่ทุกวันนี้คิดแค่ว่า จะใช้เวลาทุกวินาทีอย่างไร ให้เป็นประโยชน์ต่อโลกต่อธรรมมากที่สุด ก็เท่านั้นเอง"

 

สร้างโรงพยาบาล

หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านได้เมตตาสงเคราะห์โลก  อย่างหาประมาณมิได้  องค์ท่านได้เมตตาสร้างตึกร่มฟ้า  โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร  เพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชนนีพันปีหลวง  และสร้างตึกร่มฉัตร  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล  แด่พระบาทสมเด็จ  พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่  ๙  ซึ่งตึกทั้งสองหลังนี้  เป็นตึกห้องพิเศษ  วีไอพี  มีอุปกรณ์สมบูรณ์แบบครบครันทันสมัย

ปีพ.ศ.๒๕๔๗  องค์ท่านได้เมตตาสร้างโรงพยาบาลพระอาจารย์แบน  ธนากโร  ที่อำเภอภูพาน  จังหวัดสกลนคร     เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ    เนื่องในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖  รอบ  ๗๒  พรรษา

ปี  พ.ศ.๒๕๕๘  สร้างตึกหัวใจเพื่อแผ่นดิน  ศูนย์เฉพาะทางโรงหัวใจ มอบให้กับโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร  พร้อมทั้งอุปกรณ์ครบครันทันสมัย

สร้างสำนักปฏิบัติธรรม

หลวงปู่แบน  ธนากโร  นอกจากองค์ท่านเมตตาสงเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว  ท่านยังได้เมตตาสร้างวัด  เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน  เจริญรอยตามบูรพาจารย์  มีหลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต  หลวงปู่กงมา  จิรปุญฺโญ  เป็นอาทิ  ให้พระภิกษุสามเณรได้มีที่ศึกษาข้อวัตร  ปฏิบัติธรรม  เพื่อรักษาป่าไม้  ต้นน้ำลำธาร  รักษาสัตว์ป่า  รักษาธรรมชาติเอาไว้  ซึ่งนับวันจะถูกบุคคลต่างๆ  ทำลายลงไป   

วัดที่องค์ท่านเมตตาสร้างนั้นมีดังนี้

๑.วัดป่าภูผาผึ้ง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

๒.วัดป่าค้อน้อย บ้านค้อน้อย ตำบลค้อใหญ่ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

๓.วัดป่าวังเพิ่ม-พระภาวนา ตำบลพญาเย็น  อำเภอปากชอง จังหวัดนครราชสีมา

๔.วัดเขาคิชฌกูฏภาวนาราม ตำบลคลองพลู   อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

๕.วัดสวนป่าริมธาร  ตำบลกกตูม  อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านจะพำนักอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์  ตำบลตองโขบ  อำเภอโคกศรีสุพรรณ  จังหวัดสกลนคร  หรือในบางครั้ง  ท่านก็จะไปพักปฏิบัติธรรม  อบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชน  ตามวัดสาขาต่างๆ

 

เมตตาสรรพสัตว์

               สิ่งหนึ่งที่หลวงปู่แบน ธนากโร  ท่านเมตตานำพาลูกศิษย์ปฏิบัติสืบมานั้น  คือท่านจะเมตตาปล่อยสัตว์  ไม่ว่าจะเป็น  ปล่อยปลา  ปล่อยเต่า  ปล่อยปู  ปล่อยนก  เป็นอาทิ

               ซึ่งท่านจะให้ลูกศิษย์ไปซื้อสัตว์ที่มีชีวิตในตลาด  ที่เขาจะฆ่านำไปทำอาหาร  จากนั้นนำไปปล่อยตามที่ต่างๆ  ตามหนอง  ตามคลองบึง  ซึ่งเห็นว่าปลอดภัย  นับเป็นความเมตตาขององค์หลวงปู่แบน  ยิ่งนัก  ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  “สัตว์เขาเกิดมาใช้กรรม  เห็นเขาตกต่ำอย่าย่ำยี  เขาเกิดมาตกต่ำในชาตินี้  เกิดใหม่อีกทีอยาจจะดีกว่าเราได้  ดังนั้น  จึงไม่ควรประมาทต่อกัน”

 

การละสังขาร

               หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านได้ละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน  เมื่อวันพฤหัสดบดีที่  ๑๖  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๖๓  เวลา  ๑๐.๓๘  น.  ณ  กุฏิ  วัดดอยธรรมเจดีย์  บ้านโคก  ตำบลตองโขบ   อำเภอโคกศรีสุพรรณ  จังหวัดสกลนคร  สิริรวมอายุได้  ๙๑  ปี  ๖  เดือน  ๑๔ วัน  ๖๙  พรรษา 

               ก่อนละสังขาร  ท่านได้สั่งคณะสงฆ์วัดดอยธรรมเจดีย์ว่า  ไม่ให้เก็บสังขารไว้เกินสามวัน  ไม่ให้มีการสวดพระอภิธรรม  แต่ให้ทำวัตรสวดมนต์  นั่งสมาธิภาวนา  ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า  บูชาพระธรรม  บูชาพระสงฆ์

               และในวันศุกร์ที่  ๑๗  มกราคม  พ.ศ.๒๕๖๓  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นหาประมาณมิได้  ที่พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา  พระบรมราชินี  ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์  ทรงพระราชทาน/ทรงประทาน พวงมาลา  เพื่อวางหน้าหีบบรรจุสรีระสังขาร  หลวงปู่แบน ธนากโร

               ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๖๓  เวลา ๑๖.๐๐ น.  ทำพิธีถวายเพลิงสรีระสังขาร  หลวงปู่แบน  ธนากโร  ณ  เมรุชั่วคราว  วัดดอยธรรมเจดีย์

               พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

               อนิจจา  วต  สังขารา         อุปปาทวยธัมมิโน

               อุปัชชิตวา  นิรุชชันติ        เตสัง วูปสโม  สุโข

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง  มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา

มีความเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา

การเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลาย  เป็นสุขอย่างยิ่ง

               หลวงปู่แบน  ธนากโร  พระอรหันต์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า  เป็นพระสงฆ์ที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า  เป็นพระป่ากรรมฐานผู้ยิ่งใหญ่  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เป็นพระภิกษุผู้สันโดษ  สมถะ  เรียบง่าย  จึงสมกับท่านเป็น  มหาบุรุษพุทธสาวกของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง  

               แม้ท่านจะละสังขารจากไปแล้ว  แต่คุณธรรม  คุณงามความดี  ที่ท่านบำเพ็ญ  ยังปรากฎอยู่ในโลกนี้  ให้พุทธศาสนิกชน  รุ่นหลัง  ได้ปฏิบัติตามสืบต่อไป  ตลอดกัลปวสาน

 

ธรรมะสงค์เคราะห์โลก

หลวงปู่แบน  ธนากโร  ท่านเมตตาสงเคราะห์ประชาชนทั้งหลายด้วยวัตถุภายนอกแล้ว  ท่านจะให้ความสำคัญกับลูกศิษย์ทุกคนเสมอกันที่มากราบนมัสการท่าน  สิ่งหนึ่งซึ่งหลวงปู่ท่านเมตตาสงเคราะห์กับบุคคลต่างๆนั้นก็คือ  “ธรรมะ”    โดยท่านจะอบรมผู้ที่มากราบนมัสการ  และพระเณรที่อยู่ภายในวัดเป็นประจำ  ส่วนวันพระนั้นท่านจะเมตตาอบรมเป็นพิเศษ  ทางด้านจิตตภาวนา 

ดังนั้น  จึงขอนำหัวข้อธรรมของหลวงปู่แบน  ธนากโร  ที่ท่านเทศน์  ในวาระโอกาสสำคัญต่างๆ  มาลงไว้ให้เป็นคติเครื่องระลึก  เครื่องเตือนใจ  แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าได้ศึกษา  เพื่อจะนำไปอบรมตนเอง  ให้เป็นไปตามหลักธรรมะคำสอนที่องค์ท่านได้เมตตาแสดงไว้

บุญคืออะไร

บุญ  คือ  การทำใจของเราให้สบาย  ให้มีความสุข  ให้สงบ  ให้ใส  ให้เย็น  ให้สว่าง  บุญ  คือ  การทำใจของเราให้สมบูรณ์ขึ้นมาด้วยศีลธรรม  สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่โลก  แก่สังคมโลก  อันนั้นเรียกว่าบุญได้ทั้งนั้น  เพราะบุญ  คือสิ่งที่สร้างสรรค์  การทำสิ่งที่สร้างสรรค์นั้นจึงเป็นการทำบุญ

สำเร็จเป็นการบุญ

เรื่องการบริจาคทาน  บุญที่จะเกิดขึ้นมากน้อย  ขึ้นอยู่กับจิตใจของบุคคลผู้ทำ  ไม่ต้องสมมุติว่ากองกฐิน  ไม่ต้องสมมุติว่ากองผ้าป่า  ก็สำเร็จเป็นการบุญ

บุญกุศลมหาศาล

การทานมุ่งในการเสียสละด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ๑  คือไม่มีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง  ไม่ใช่ทานเพื่อมุ่งของตอบแทน  ไม่ใช่ทานเพื่อมุ่งให้หน้าตาใหญ่โตอะไร  ทานเพื่อเป็นการบูชา  สิ่งที่เรานำไปบริจาคนั้น  เป็นของที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง  คือได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ๑  แล้วก็บุคคลที่รับไทยทานของเราก็เป็นบุคคลที่มีความบริสุทธิ์  ๑  ถ้าหากว่าความบริสุทธิ์สามส่วนนี้มารวมกัน  ไม่ต้องเรียกว่าผ้าป่า  ไม่ต้องเรียกว่ากฐิน  เป็นบุญกุศลมหาศาลทั้งนั้น

ธรรมโอสถ

คนที่จะเห็นคุณค่าของข้าวปลาอาหาร  คนนั้นต้องรับประทาอาหารอิ่ม  คนที่จะเห็นคุณค่าของยา  โรคของเจ้าของต้องหายไป  ตามปรกติเราๆ  เป็นโรคด้วยกันทุกคน  โรครัก  โรคชัง  โรคอะไรต่ออะไร  เป็นโรคทั้งนั้น  ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมแก้โรค

ได้ประโยชน์ทั้งนั้น

ศีลธรรมของพระพุทธเจ้า  เอาไปประพฤติปฏิบัติ  ได้รับประโยชน์ทั้งนั้น  เหมือนกับยา  จะสีวรรณะใด  ฝรั่งดำ  ฝรั่งขาว  เขมร  ไทย จะสีใดๆ  ก็ช่าง  ยาเป็นประโยชน์เวลาป่วยไข้ได้ทั้งนั้นไม่เลือกสีสัน  ไม่เลือกวรรณะ

ความดีต้องรีบทำ

ความดี  คือการบำเพ็ญทาน  ความดี  คือการรักษาศีล  ความดี  คือการบำเพ็ญจิตภาวนา  ให้รีบทำในขณะนี้ทีเดียว  พระพุทธเจ้าทรงอุปมาไว้  เหมือนกับไฟไหม้ผมบนศีรษะให้รีบดับ  ไม่ใช่ไหม้บ้านไหม้ช่องนะ  ไหม้ผมบนศีรษะนี่  ต้องดับทันที  การทำความดีก็ต้องรีบทำทันทีเหมือนกัน  ทันทีทุกขณะ

ดูใจ

ให้ดูใจ  ถ้าหากว่าเราดูใจของเราแล้ว  ทำดีได้ดีจริง  ใจมีความสบาย  ใจมีความสุขจริง  ทำไม่ดี  ได้ความไม่ดีจริง  ใจไม่สบายจริง  ใจเป็นทุกข์จริง  ถ้าเราดูใจของเราแล้ว  มันชัดเหลือเกิน  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ดูใจของเรามากๆ  แล้วคำว่า  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  อันนี้เราจะยอมรับอย่างสนิทใจ  อย่าใจร้อน  ค่อยเป็นค่อยไป  อย่าใจร้อน  ใจร้อนจะร้อนใจ  ร้อนใจเพราะไม่ได้ดั่งใจ  ทำใจเย็นๆ  แต่ว่าต้องมีความพยายามให้มาก  พอใจในการทำให้มาก  อันนี้เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง

ติเราเอง

ไปหาติคนอื่น  บางทีมีปัญหา  ติเรา  ติเรา  การติเรานั่นล่ะคือการแก้ปัญหา  เป็นการแก้ปัญหาที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถูกต้อง  ต้นไม้ในโลก  มีทั้งมีแก่นและไม่มีแก่น  คนในโลกก็เช่นเดียวกัน  มีทั้งแข็งแกร่งและอ่อนแอ  มีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ  ธรรมดาธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น  จึงไม่ต้องไปติ  ไม่ต้องไปชมอะไรกัน  ถ้าหากว่าจะติจะชม  พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการติเราชมเรา

การที่ใจมุ่งตำหนิคนอื่นนั้น  ใจไม่สบาย  ใจเป็นอกุศล  ใจมุ่งในการตำหนิเรา  มุ่งในการแก้ไขเรา  ใจมีลักษณะนี้  ใจเป็นข้อปฏิบัติ  ใจมีอรรถ  ใจมีธรรม  มีธรรมจึงให้มุ่งที่จะแก้ไข  ปรับปรุงเราเองอยู่เสมอ

ศีลบริสุทธิ์

เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะเข้าถึงอริยบุคคลได้  อย่างนางวิสาขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ยังครองเรือน  แต่จิตของนางวิสาขานั้นสมบูรณ์ด้วยศีลห้า  สมบูรณ์บริสุทธิ์ทีเดียว  แม้แต่จะคิดไปในทางที่ละเมิดก็ไม่มี  จิตอย่างนี้เป็นจิตประเสริฐ  ศีลห้าจึงเป็นศีลที่ยังจิตยังใจให้ประเสริฐ  เป็นอริยบุคคลขึ้นมาได้

ศีลสมบูรณ์

การรักษาศีล  ก็คือการสำรวมในจิตในใจ  สำรวมในจิตในใจสมบูรณ์  จิตนั้นพร้อมที่จะก้าวเป็นสมาธิธรรม  การสำรวมในจิตในใจหย่อนยาน  ศีลของเราก็หย่อนยาน  การสำรวมในจิตในใจของเราเข้มงวดยิ่งขึ้นไป  ศีลของเราจะสมบูรณ์ประณีตยิ่งขึ้นไป  จิตพร้อมที่จะเป็นสมาธิ  ในขณะที่จิตเป็นศีลสมบูรณ์นั้น  จึงว่าศีลเป็นพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ภาวนาดี

วันนี้มีโยมมาขอพร  ขอพรอะไร  ขอพรอะไรก็ได้ทั้งนั้นล่ะ  ว่างั้น  ถ้าอย่างนั้นก็จะให้พรที่ดีที่สุด  คือให้ภาวนาดีๆ  พระพุทธเจ้า  เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการภาวนา  พระอรหันตสาวกเจ้า  เป็นพระอรหันต์ด้วยการภาวนา  พิจารณาดูแล้ว  ไม่มีอะไรดีเท่าการบำเพ็ญภาวนา  พ้นจากทุกข์ได้เพราะการภาวนา

เรือนธรรมเรือนใจ

นกเขาก็ยังมีรัง  หนูเขาก็ยังมีรู  กระจ้อนกระแตเขาก็ยังมีบ้านมีช่อง  ผู้ปฏิบัติธรรม  ก็ต้องมีเรือนธรรมเป็นเครื่องอยู่ของใจเช่นเดียวกัน  เรือนธรรมก็คือความสงบ  คือสมาธิธรรม

ถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตน  เป็นเครื่องประดับคนให้งาม  การแข็งกระด้าง  การยกแต่เจ้าของ  พยายามกดคนอื่น  อันนี้ไม่สวยงามเลย  ไม่ว่าสังคมระดับไหน

 

นาสาระเกี่ยวกับการอัดเสียงประวัติหลวงปู่แบน ธนากโร

               ภายหลังจากที่เขียนประวัติ  หลวงปู่แบน ธนากโร เสร็จ  ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๕๔๙  ผู้เขียนมีความคิดที่จะอัดเสียงประวัติขององค์ท่าน  ใส่ดนตรีประกอบ 

               ครั้งที่  ๑  อัดเสียงเมื่อวันที่  ๑  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๕๑ 

               ใช้เครื่องอัดเสียง  Zoom H4n  ใช้เวลาในการอัดเสียง  2.30 ชั่วโมง  แถบเสียงต่างๆ สมบูรณ์  พอนำเสียงอัดมาเปิดฟัง  ปรากฎว่าไม่มีเสียง  จากนั้นข้าพเจ้าได้ทำการโหลดเสียงอัดลงคอมพิวเตอร์  และโหลดเสียงอัดใส่ในโปรแกรมตัดต่อ  พอเปิดฟังก็ยังไม่มีเสียง  มีแต่เส้นเสียง 2.30 ชั่วโมง  และได้นำเสียงไปเปิดในโปรแกรมอื่นๆ  แต่ก็ไม่มีเสียง  ทำเอาข้าพเจ้าไปไม่เป็น  และทำการอัดใหม่เป็นครั้งที่ ๒  อัดเสร็จนำมาเปิดฟังใหม่  มีเส้นเสียงอัด  แต่ไม่มีเสียง  เปิดในโปรแกรมอะไรก็ไม่มีเสียง  ข้าพเจ้าจึงยกเลิกการอัดเสียงทำประวัติขององค์ท่านไป

               จากนั้นจึงนำเครื่องอัดมาอัดเสียงอื่นๆ  แล้วนำมาเปิดฟัง ปราฏว่ามีเสียงตามปกติทุกอย่าง  และเปิดไฟล์เสียงที่เคยอัดเอาไว้  เสียงก็เปิดได้ทุกไฟล์  ยกเว้นประวัติหลวงปู่แบน  ที่ไม่มีเสียง 

               ครั้งที่  ๒  อัดเสียงเมื่อวันที่ ๑๕  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๖๓

               ใช้เครื่องอัดเสียง Zoom H4n  โดยก่อนอัดเสียงนั้น  ข้าพเจ้าได้อัดเสียงทดสอบ  แล้วนำมาเปิดฟัง  เส้นเสียง เสียง  ทุกอย่างเป็นปกติดี

               จากนั้นได้ทำการอัดเสียงอ่านประวัติขององค์ท่าน   ใช้เวลาในการอัดเสียง 3  ชั่วโมง  พออัดเสร็จ  เปิดฟังในเครื่องอัด  เสียงไม่มี  จากนั้นนำเสียงอัดโหลดลงคอมพิวเตอร์  แล้วเปิดในโปรแกรมต่างๆ  ปรากฎว่า เสียงไม่มี  และโหลดลงโปรแกรมตัดต่อ  เส้นเสียงปกติดีทุกอย่าง  แต่พอเปิดฟัง  เสียงไม่มี  พอเปิดไฟล์เสียงอื่น  ที่อัดเอาไว้  เสียงก็ปกติทุกไฟล์

               ข้าพเจ้าเปิดปิดเครื่องคอมใหม่หลายรอบ  แล้วนำมาเปิดเสียงอ่านประวัติท่านดู  ปรากฎว่าเสียงไม่มีเช่นเดิม

               ครั้งที่  ๓  อัดเสียงเมื่อวันที่  ๑๗  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๖๓

               ใช้เครื่องอัดเสียง Zoom H4n            ในครั้งนี้ ใช้เวลาในการอัดเสียง  2.45  ชั่วโมง  เสียงอ่านประวัติ  เส้นเสียงดีทุกอย่าง  ราบรื่น  ไม่ติดขัด  และได้จัดทำเป็นชีวประวัติ  ประกอบดนตรี  ให้ทุกท่านได้รับฟัง  ตามรายละเอียดที่ลงไว้ให้ฟังแล้วนี้

               การอัดเสียงอ่านประวัติขององค์ท่านแต่ละครั้ง  ผู้เขียนจะตั้งจิตอธิษฐาน  ระลึกถึงองค์ท่าน  และขอบารมีขององค์ท่านให้การอ่าน  การจัดทำประวัติออกมาดี  ไม่มีอุปสรรคใดๆ

               และตั้งแต่ซื้อเครื่องอัดเสียงมานี้  ไม่มีครั้งไหนที่อัดเสียงไม่ติด  ยกเว้นการอัดเสียงทำประวัติหลวงปู่แบน  ธนากโร  สองครั้ง  และอัดเสียงประวัติ  พระอาจารย์ถาวร  ญาณวีโร  วัดป่าถ้ำโพรง  (อัดไม่ติดครั้งเดียว  เพราะไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานขออนุญาตท่าน ครั้งที่สอง  พอตั้งจิตอธิษฐานขออนุญาตท่านแล้วก็อัดเสียงติดเลยทีเดียว )  รวมที่อัดเสียงไม่ติด  3  ครั้ง

               ดังนั้น  นี่จึงมิใช่เรื่องบังเอิญที่อัดเสียงไม่ติด  นอกจากจักเป็นปาฎิหารย์ที่องค์หลวงปู่ฯ  ยังไม่อยากให้ทำ  เพราะยังไม่ถึงเวลาอันสมควร

 

               ชีวประวัติหลวงปู่แบน ธนากโร  ผู้เขียนได้เขียนขึ้น  เพื่อน้อมถวายเป็นอาจาริยบูชา  และน้อมถวายเป็นพระราชกุศล  แด่ในหลวงรัชกาลที่  ๙

ข้อมูลประวัติส่วนตัวหลวงปู่แบน  ธนากโร  ผู้เขียนคัดลอกมาจากสำเนาหนังสือสุทธิขององค์ท่าน จากที่เก็บเอกสารประวัติพระสังฆาธิการคณะสงฆ์จังหวัดสกลนคร (ธรรมยุต)  ซึ่งขณะนั้นผู้เขียนเป็นพระภิกษุพำนักจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส  ต.ธาตุเชิงชุม  อ.เมือง  จ.สกลนคร 

               และประวัติส่วนอื่นๆนั้น ผู้เขียนได้เขียนขึ้นตามที่ได้ทราบ  แลเกี่ยวข้องกับองค์ท่านมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร  จนกระทั่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

               เริ่มแรก  ผู้เขียนได้นำประวัติขององค์ท่านเผยแพร่ในเว็บไซต์สกลธรรม www.sakoldham.com  ซึ่งผู้เขียนเป็นคนจัดทำ  ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร  และต่อมาประวัติขององค์ท่านได้รับการเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่างๆ ของประเทศไทย 

               ผู้เขียนมีความเคารพนับถือ  ในปฏิปทาอันงดงามขององค์ท่าน  จึงได้ถ่ายทอดเป็นชีวประวัติ พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่แบน ธนากโร

               ขอสงวนลิขสิทธ์  ในส่วนที่จัดทำเพื่อจำหน่าย

               หากท่านคัดลอกไปเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทาน กรุณาอ้างอิงที่มาของบทความ  จักขอบพระคุณอย่างสูง

 

ขอน้อมถวายเป็นสังฆบูชา  แลอาจาริยบูชา
แด่องค์หลวงปู่แบน  ธนากโร 
ขอถวายความเคารพด้วยเศียรเกล้า

 

อุบาสก ตะวัน คำสุจริต
รวบรวม/เรียบเรียง ครั้งแรก
๒๔  พ.ค.  ๔๙

 

ปรับปรุงต้นฉบับใหม่เพื่ออัดเสียงบรรยาย
๑๗  มกราคม ๒๕๖๓